หลังจากผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากระบวนกรจิตตปัญญาศึกษา ปี 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเสมสิกขาลัย ผมและเพื่อนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้าอบรมด้วยกัน ก็มีโอกาสได้ร่วมกันจัดกิจกรรมถ่ายทอดแนวคิดตามแนวทางดังกล่าวอยู่หลายครั้ง โดยกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ที่เราจัดให้ ประกอบด้วย นักศึกษา บุคลากร อาจารย์ จากคณะสถาบันต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ภายนอกบางส่วน
ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่เราเข้าร่วมการอบรมกระบวนกรฯ ที่กล่าวข้างต้นนั้น เราได้เรียนรู้ว่าทุกคนล้วนมี กรอบ แบบแผนความคิด ความเชื่อที่หลากหลาย ซึ่งส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมภายนอกต่อเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเวลานั้น เราก็เพียงเรียนรู้ในภาคทฤษฎีเท่านั้น และผมก็ได้เข้าใจในตอนนั้นว่า เราแตกต่างกัน และเมื่อเราทำความเข้าใจกับความแตกต่างเหล่านั้น เราก็จะทำงานร่วมกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน ได้อย่างราบรื่น
ต่อเมื่อได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เราจึงได้ "รู้ซึ้ง" ถึงความแตกต่างเหล่านั้น ช่วงแรกที่ทำงานร่วมกัน เราพยายามที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจถึง "กรอบพฤติกรรม" ที่เราประเมินร่วมกันว่าเป็น "ข้อจำกัด" ของแต่ละคน และอาจส่งผลในแง่ลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเรา แต่ละคน ในระหว่างที่จัดกิจกรรมและใช้ชีวิตร่วมกัน จึงพยายามที่จะลดพฤติกรรมเหล่านั้น โดยมีจุดม่งหมาย (ตามความรู้สึกในตอนนั้น) เพื่อสร้างความสมดุลของพฤติกรรมที่แสดงออก สำหรับตัวเอง และเพื่อให้พฤติกรรมของตนเอง ไม่ส่งผลกระทบทางความรู้สึกและจิตใจกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือ พฤติกรรมที่แต่ละคนพยายาม "ปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง" กลับยิ่งส่งผลกระทบให้กับตนเองอย่างมาก ทั้งนี้ อันเนื่องมาจากพฤติกรรมที่พยายามจะเปลี่ยนนั้น เป็นตัวแทนที่เป็นรูปธรรมที่สุดของ "คุณค่า" ที่แต่ละคนยึดถึอ เชื่อมั่น ศรัทธา ด้วยชีวิตและจิตวิญญาณทั้งหมด และเป็นเสมืน "แผนที่" ในการดำรงชีวิตและมีตัวตนอยู่บนโลก
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจึง คือ ความสับสัน ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าพฤติกรรมแบบใดกัน ที่เป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องและควรกระทำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้พวกเราบางคนในบางเวลา สูญเสียความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวตนที่แท้จริงของตนเอง
เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นและดำเนินต่อมาตลอดเวลาที่เราจัดกิจกรรมร่วมกัน จนในที่สุดเราก็ตระหนักร่วมกันว่า มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว ณ เวลานั้น
ผมและเพื่อนจึงได้สร้างโอกาสที่จะพูดคุยกันอย่างเปิดใจ ในวันนั้น เรานั่งอยู่ที่ม้าหินยาวหน้าศูนย์จิตตปัญญาศึกษา หลังจากเสร็จจากการประชุมร่วมกับอาจารย์ที่ศูนย์ฯ เราเริ่มจากการเปิดเผยถึง ความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจของกันและกัน และได้เปิดเผยถึงความศรัทธาใน "คุณค่า" แท้จริงที่แต่ละคนยึดถือกันอย่างที่ไม่เคยได้เปิดเผยกันอย่างนี้มาก่อน (น่าแปลกที่ก่อนหน้านี้ เราก็ทำกิจกรรม และใช้ชีวิตอย่างที่เข้าใจว่า "เปิดเผย" ร่วมกันมานานนับปีแล้ว)
และเราก็ได้เรียนรู้วิธีการสร้าง "ความสมดุล" ในรูปแบบใหม่ ซึ่งเราตกลงที่จะเรียกมันว่าเป็น "สมดุลในความสัมพันธ์" ก็ในเมื่อพฤติกรรมที่เพื่อนยึดถือปฏิบัติอยู่นั้น เป็นตัวแทนของคุณค่า ศรัทธา ที่เพื่อนเชื่อมั่นด้วยหัวจิตหัวใจทั้งหมด (ซึ่งสิ่งท้ายทายที่สุดคือ บางครั้ง คุณค่า ศรัทธาที่เพื่อนยึดถือด้วยหัวใจ ก็อยู่คนละขั้วกับคุณค่าที่เรายึดถือด้วยชีวิต...) เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้และยอมรับว่า มันเป็นส่วนหนึ่งในความแตกต่างหลากหลายระหว่างเรา เรียนรู้ที่จะเคารพ และให้เกียรติในแบบแผนเหล่านั้นของแต่ละคน ยอมรับ เข้าใจ(จริงๆ ไม่ใช่เพียงคำพูดสวยหรู แต่เป็นความเข้าใจในระดับเหตุปัจจัย ในระดับฐานรากแห่งตัวตน) ว่าความแตกต่างเหล่านี้อาจท้าทายความแน่นเหนียวในความสัมพันธ์ของเราในปัจจุบันและอนาคต หากแต่ ความสมดุลในความความสัมพันธ์ ที่เราเรียนรู้ร่วมกันในวันนี้ จะเป็นเสมือน "สายใย" บางๆ ที่มีความยืดหยุ่น ในขณะเดียวกันก็ยึดเราเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น
สมดุลในความสัมพันธ์ จึงมิใช่สมดุลที่ทุกคนจะต้องคอยปรับจูนตัวเองตลอดเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งระหว่างกัน แต่เป็นสมดุลที่เราต่างยอมรับในตัวตนของกันและกัน (พูดง่าย... แต่ทำยากจริงๆ) ยอมรับความเสี่ยงที่ตัวตนของเรา อาจส่งผลกระทบต่อเพื่อนและการทำงานร่วมกันในอนาคตได้ หากแต่ผลกระทบเหล่านั้นจะเกิดขึ้นบนฐานของความสัมพันธ์...อย่างสมดุล
ผู้เขียน: ปรเมศวร์ บุญยืน